ต้นไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ต้นหมันเป็นพันธุ์ไม้ตระกูล Boraginaceae เป็นต้นไม้ขนาดปานกลาง สูงราว ๖๐ ฟุต ลำต้นลักษณะคล้ายกระบอกเนื้อไม้สีเทาปนสีน้ำตาล มีความแข็งปานกลางเปลือกหนาประมาณ ๑/๒ นิ้ว สีเทาปนน้ำตาลซึ่งมีรอยแตกยาวไปตามลำต้น ใบยาวประมาณ ๕ นิ้ว กว้างประมาณ ๓ นิ้ว เป็นรูปไข่โคนใบคล้ายรูปหัวใจ ดอกสีขาว ผลเป็นพวงสีเขียวเมื่อสุก ต้นหมันชอบขึ้นในป่าทั่วไปในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม้ประเภทนี้ปกติไม่นิยมใช้ประโยชน์ ต้นหมันเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพราะในประวัติศาสตร์ เมื่อพระเจ้าอู่ทองย้ายเมืองมาตั้งที่ตำบลหนองโสน ได้ขุดพบสังข์ทักษิณาวัตร ๑ ขอน อยู่ใต้ต้นหมันอันเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ดอกไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ดอกโสนเป็นต้นไม้ในตระกูล Leguminosae เป็นไม้ล้มลุก (Shrub)เนื้ออ่อนโตเร็ว ลำต้นอวบ ปลูกและขึ้นเองตามแม่น้ำลำคลองหนองบึงทั่วไปในภาคกลาง ดอกสีเหลืองออกเป็นช่อห้อยและเหลืองอร่ามคล้ายทองไปทั่วทุกแห่งใช้รับประทานเป็นอาหารได้ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ พระเจ้าอู่ทองทรงตั้งเมืองขึ้นใหม่ที่ตำบลเวียงเหล็กทรงเลือกชัยภูมิที่จะตั้งพระราชวังทรงเห็นว่าที่ตำบลหนองโสนเหมาะสมเพราะมีต้นโสนมากดอกโสนออกดอกเหลืองอร่ามคล้ายทองคำสะพรั่งตาดังนั้นดอกโสนจึงถือได้ว่าเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สัตว์ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
กุ้งแม่น้ำ หรือ กุ้งก้ามกราม (กุ้งสมเด็จ)ชื่อสามัญ : Giant Freshwater Prawn ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพบางไทรขึ้นริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ต.ช้างใหญ่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดศูนย์ฯนี้เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๒๗ และทรงปล่อยลูกกุ้งชุดแรกที่หน้าศูนย์ศิลปาชีพบางไทรแห่งนี้ และได้มีการปล่อย อย่างต่อเนื่องมาทุกปีจนถึงทุกวันนี้ ในบางปีที่เสด็จพระราชดำเนินมายังพระตำหนักสิริยาลัย ก็ได้นำลูกกุ้งก้ามกรามนับล้านตัวมาปล่อยในบริเวณหน้าพระตำหนัก
ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ดอกโสน เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ้าลายดอกโสน เป็นลวดลายที่เกิดจากการนำดอกโสน และสีฟ้า สีน้ำเงิน สีธงประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาออกแบบเป็นลวดลายผ้าดอกโสน มีชื่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยาบนผืนผ้า ซึ่งผ้าลายดอกโสนเกิดขึ้นในสมัยนายสุรพล กาญจนะจิตรา ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕) โดยมีการประกาศในที่ประชุมให้รับทราบโดยทั่วกัน และนำผ้าลายดอกโสนตัดเย็บเป็นเสื้อประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้าราชการ พนักงานและบุคลากรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สวมใส่ทุกวันศุกร์จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลา ๒๐ ปีมาแล้ว และเป็นผ้าลายที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ความเป็น “จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ได้อย่างชัดเจน
ประวัติความเป็นมา
ดอกโสน เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ้าลายดอกโสน เป็นลวดลายที่เกิดจากการนำดอกโสน และสีฟ้า สีน้ำเงิน สีธงประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาออกแบบเป็นลวดลายผ้าดอกโสน มีชื่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยาบนผืนผ้า ซึ่งผ้าลายดอกโสนเกิดขึ้นในสมัยนายสุรพล กาญจนะจิตรา ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕) โดยมีการประกาศในที่ประชุมให้รับทราบโดยทั่วกัน และนำผ้าลายดอกโสนตัดเย็บเป็นเสื้อประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้าราชการ พนักงานและบุคลากรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สวมใส่ทุกวันศุกร์จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลา ๒๐ ปีมาแล้ว และเป็นผ้าลายที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ความเป็น “จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ได้อย่างชัดเจน
ข้อมูลการขึ้นทะเบียน
ประกาศจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรื่อง ลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกาศ ณ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ มติที่ประชุมพิจารณาลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เห็นชอบให้ “ลายผ้าดอกโสน” เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรและด้วยสำนึกในพระมหากรุณาที่คุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ทรงพระวิริยะอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการส่งเสริมเรื่อง “ผ้าไทย” และสิ่งทอท้องถิ่นที่เกือบสูญหายไป ให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง พร้อมยกระดับผ้าไทยให้มีความโดดเด่นและมีชื่อเสียงในเวทีโลก เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
รายละเอียดการทอผ้า
ผ้าลายดอกโสน มีเอกลักษณ์เฉพาะในรูปของดอกโสนที่กระจายบนผืนผ้า ผลิตโดยการใช้เทคนิคบาติก ใช้ผ้าไหมและผ้าฝ้าย (ผ้าคอตตอน) ด้วยเทคนิคการเขียนมือ ด้วยความละเอียดประณีต โดยมีวิธีการผลิตดังนี้ เริ่มต้นด้วยการเขียนลายดอกโสนด้วยมือ ลอกลายลงบนผ้า เขียนลายด้วยเทียนเขียน การลงสี และเคลือบสี นำผ้าไปต้ม นำไปปั่น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวทำให้สีไม่ตก และรีดให้เรียบ พร้อมบรรจุใส่ถุงด้วยความปราณีต นำไปตัดเสื้อหรือชุดร่วมสมัยได้อย่างสวยงาม ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา